นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มอบหมาย นางสาวนฤมล สงวนวงศ์ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้การต้อนรับสมาคมผู้ค้ายางแห่งประเทศญี่ปุ่น (The Rubber Trade Association of Japan: RTAJ) ในโอกาสเดินทางมาศึกษาดูงานด้านความยั่งยืนของอุตสาหกรรมยางพาราในประเทศไทย ระหว่างวันที่ 29 – 31 สิงหาคม 2566 ณ โรงแรมอมารี วอเตอร์เกท กรุงเทพฯ และการลงพื้นที่ศึกษาดูงานแหล่งผลิตยางพาราในพื้นที่ภาคตะวันออกของประเทศไทย ได้แก่ พื้นที่ จ.ชลบุรี และ จ.ระยอง จัดโดยการยางแห่งประเทศไทยร่วมกับสำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำกรุงโตเกียว ซึ่งการศึกษาดูงานในครั้งนี้จะเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับประเทศญี่ปุ่นถึงกระบวนการผลิตอุตสาหกรรมยางพาราของประเทศไทยที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ อีกทั้งยังเป็นการรักษาตลาดเดิม ควบคู่กับการขยายโอกาสทางการค้าของสินค้ายางพาราที่มีมูลค่าสูง
ทั้งนี้ ประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศผู้ใช้ยางพาราของไทยในลำดับต้น ๆ โดยนำเข้ายางแผ่นรมควันและยางแท่งจากประเทศไทยปีละจำนวนมาก เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมยางล้อรถยนต์และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ขณะเดียวกัน บริษัทผู้ผลิตยางล้อรถยนต์ของญี่ปุ่นหลายแห่งยังสร้างฐานการผลิตในประเทศไทย โดยมีการใช้ยางพาราในประเทศไทยเป็นวัตถุดิบจำนวนมากอีกด้วย
ปัจจุบันประเทศไทยครองส่วนแบ่งตลาดยางพาราในประเทศญี่ปุ่นประมาณร้อยละ 30 มากเป็นอันดับ 2 รองจากประเทศอินโดนีเซียซึ่งมีส่วนแบ่งตลาดประมาณร้อยละ 70 อย่างไรก็ตาม การศึกษาดูงานในครั้งนี้ จะเป็นก้าวแรกในการพลิกโอกาสให้อุตสาหกรรมยางพาราของประเทศไทยสามารถกลับมาทวงแชมป์การส่งออกยางพาราไปตลาดญี่ปุ่นในรอบ 15 ปี เนื่องจากประเทศญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDGs) ผู้บริโภคญี่ปุ่นตื่นตัวและให้ความสนใจกับสินค้าและผลิตภัณฑ์ที่มีกระบวนการผลิตที่สอดคล้องกับเป้าหมาย SDGs ไม่เว้นแม้แต่อุตสาหกรรมยางล้อรถยนต์และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ซึ่งผู้ผลิตหลายรายหันมาใส่ใจต่อเป้าหมายดังกล่าวจนมีแนวโน้มที่จะกลายเป็นมาตรฐานในการจำหน่ายสินค้าในอนาคต ทั้งนี้ ในปี 2565 ญี่ปุ่นนำเข้ายางพารารวม 769,065 ตัน ประเทศที่ญี่ปุ่นนำเข้ามาก 3 อันดับแรก ได้แก่ อินโดนีเซีย 516,348 ตัน ไทย 231,743 ตัน และเวียดนาม 10,435 ตัน