กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ เป็นอาการที่ไม่สามารถควบคุมการปัสสาวะได้ โดยอาจพบอาการปัสสาวะเล็ดขณะเคลื่อนไหว ปัสสาวะราด ปัญหานี้พบได้บ่อยในผู้สูงอายุทั้งหญิงและชาย ทั้งยังส่งผลต่อการใช้ชีวิตและจิตใจของผู้สูงอายุ
อย่างที่ทราบกันดีว่าอายุที่เพิ่มขึ้น ร่างกายส่วนต่างๆ ก็จะเริ่มเสื่อมและทำงานได้น้อยลง อีกทั้งโรค ยา และการใช้ชีวิตก็อาจเพิ่มความเสี่ยงของอาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่มากขึ้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ผู้สูงอายุบางคนจะเจอกับปัญหานี้ โดยสาเหตุของอาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ ในผู้สูงอายุอาจมาจาก
- ความผิดปกติของกล้ามเนื้อ เช่น กล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานอ่อนแรง จึงทำให้กล้ามเนื้อหูรูดปิดไม่สนิท หรือกล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะทำงานมากกว่าปกติ เมื่อมีปริมาณปัสสาวะมากก็อาจทำให้ปัสสาวะเล็ด กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ ฯลฯ
- การติดเชื้อบริเวณอวัยวะเพศหญิงหรือการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ
- เส้นประสาทที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมปัสสาวะเสียหาย อาจเป็นผลมาจากการบาดเจ็บหรือโรคอื่นๆ เช่น โรคเบาหวาน โรคพาร์กินสัน โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง ฯลฯ
- กระบังลมหย่อนส่งผลให้อวัยวะในบริเวณอุ้งเชิงกรานหย่อน อย่างมดลูก ลำไส้ และกระเพาะปัสสาวะ
- โรคต่อมลูกหมากอักเสบ ต่อมลูกหมากโต กล้ามเนื้อและเส้นประสาทบริเวณต่อมลูกหมากเสียหายหรือบาดเจ็บจากอุบัติเหตุและการผ่าตัด ซึ่งเป็นสาเหตุส่วนใหญ่ที่ทำให้เกิดอาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ ปัสสาวะเล็ด ในผู้สูงอายุเพศชาย
นอกจากนี้อาหาร เครื่องดื่ม ยาบางชนิด หรืออาหารเสริม ก็มีส่วนกระตุ้นให้ร่างกายผลิตปัสสาวะมากขึ้น ทำให้ปวดปัสสาวะบ่อยและอาจมีปัญหากลั้นปัสสาวะไม่อยู่ เช่น เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์หรือคาเฟอีน น้ำอัดลม อาหารรสจัด (เผ็ด หวาน เปรี้ยว) และผู้ที่มีน้ำหนักตัวมาก สูบบุหรี่หรือมีประวัติคนในครอบครัวกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ ก็อาจเสี่ยงกว่าคนทั่วไปได้
** ผู้สูงอายุที่ใช้ยาบางชนิด โดยเฉพาะยารักษาโรคหัวใจ ยาโรคความดันโลหิต ยาคลายกล้ามเนื้อ หรืออาหารเสริม ควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับปัญหากลั้นปัสสาวะไม่อยู่ที่เกิดขึ้น เพราะอาจเกิดจากการใช้ยาและอาหารเสริมเหล่านี้ได้ **
ปัญหากลั้นปัสสาวะไม่อยู่ ปัสสาวะเล็ด เป็นเรื่องที่นิ่งนอนใจไม่ได้เพราะอาจกลายเป็นปัญหาเรื้อรังที่ทำให้อาการแย่ลงกว่าเดิมได้ผู้สูงอายุที่มีปัญหาเหล่านี้อยู่แนะนำให้ลองทำตามนี้ดูครับ…
- ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม พฤติกรรมการใช้ชีวิตหรือไลฟ์สไตล์บางอย่างอาจเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดอาการปัสสาวะเล็ด การปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ที่เกี่ยวข้องกับการปัสสาวะอาจช่วยได้ เช่น ลดและควบคุมน้ำหนักตัวไม่ให้อ้วนเกินไป หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่กระตุ้นให้ปัสสาวะบ่อย ได้แก่ ชา กาแฟ เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ น้ำอัดลม และงดสูบบุหรี่ เลี่ยงการทานอาหารรสจัด ไม่ยกของหนักเกินไป ซึ่งทำให้เกิดแรงกดบริเวณกระเพาะปัสสาวะและทำให้ปัสสาวะเล็ดได้ ฯลฯ
- ฝึกควบคุมการขับถ่าย พยายามกลั้นปัสสาวะให้นานขึ้นเล็กน้อยก่อนที่จะไปถ่ายปัสสาวะ เพื่อฝึกกระเพาะปัสสาวะให้สามารถกลั้นได้มากขึ้น และพยายามฝึกเข้าห้องน้ำให้เป็นเวลา ไม่ควรเบ่งปัสสาวะอย่างรุนแรงและควรปัสสาวะให้หมด
- หมั่นบริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานและหูรูด ปัญหากลั้นปัสสาวะไม่อยู่ ปัสสาวะเล็ด สาเหตุหลักที่พบบ่อยคือเรื่องของกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานและหูรูดไม่แข็งแรง หรือเสื่อมสภาพไปตามวัย หากผู้สูงอายุหมั่นฝึกบริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานและหูรูดให้แข็งแรงได้ ก็จะช่วยลดปัญหาต่างๆ เหล่านี้ได้เป็นอย่างดี
** มาฝึกบริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานและหูรูดให้แข็งแรง ป้องกันปัญหากลั้นปัสสาวะไม่อยู่ ปัสสาวะเล็ดกันเถอะ **
บริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน
- นอนราบกับพื้น ยกเข่าทั้งสองตั้งขึ้น แยกขาออกจากกันเล็กน้อยให้ปลายเท้าขนานกับไหล่
- ออกแรงเกร็งกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน ก้น และท้องน้อย ค้างไว้เป็นเวลา 5 วินาที
- เมื่อครบ 5 วินาที ค่อยๆ คลายกล้ามเนื้อแล้วกลับมาอยู่ในท่าตั้งต้น (ตามข้อที่ 1)
- ทำตามข้อที่ 2 และ 3 ซ้ำ ให้ครบ 1 นาที (นับเป็น 1 รอบ) ทำซ้ำเป็นจำนวน 10 รอบ หรือ 10 นาที
บริหารกล้ามเนื้อหูรูด
ฝึกขมิบกล้ามเนื้อหูรูด ครั้งละประมาณ 5 วินาที และหยุดขมิบ 10 วินาที ทำซ้ำให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้ โดยแบ่งทำในช่วงเช้า กลางวัน และเย็น เป็นประจำทุกวัน แล้วค่อยๆ เพิ่มเวลาให้มากขึ้น
** การฝึกบริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานและหูรูดทุกวัน สามารถช่วยป้องกันและลดอาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ ปัสสาวะเล็ดได้ **
ปัญหากลั้นปัสสาวะไม่อยู่ ปัสสาวะเล็ด แม้เป็นปัญหาที่พบได้บ่อยในผู้สูงวัยแต่หากอาการดังกล่าวเริ่มเป็นมากขึ้นและกระทบการใช้ชีวิตประจำวัน ผู้ป่วยควรมาพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยตรวจหาสาเหตุและรับการรักษา ซึ่งจะช่วยให้ผู้สูงอายุกลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดีใช้ชีวิตได้ตามปกติ และมีความสุขขึ้นได้ การดูแลเอาใจใส่เรื่องการปัสสาวะหรือการขับถ่ายของผู้สูงอายุเป็นเรื่องที่สำคัญผู้ดูแลหรือคนในครอบครัวจึงห้ามละเลยปัญหาเหล่านี้เด็ดขาดนะครับ…
ที่มา: โรงพยาบาลรามคำแหง